
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาที่ผันผวนของผลผลิตทางการเกษตรคือ ต้นทุนการผลิต หากเกษตรกรมีแนวทางลดต้นทุนให้ต่ำลง ประกอบกับการประยุกต์ใช้ไอเดีย จะเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลผลิตที่มีคุณภาพได้
- เรื่อง/ภาพ: นายฐานิต ศาลติกุลนุการ นักวิทยาศาสตร์เกษตร (ความเชี่ยวชาญ: เศรษฐศาสตร์, Agri-Bussiness Model)
- ข้อมูล: นายกมล ทิพโชต นักวิทยาศาสตร์เกษตร สังกัดภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- Editor & Artwork: นางสาวปนัดดา ไชยศักดิ์ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
พี่ ผมอยากให้นักศึกษาและผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงผลผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่สูงน่ะครับ
แล้วทำไม? ผลผลิตที่มีคุณภาพถึงแพงครับ
บทสนทนาระหว่างผู้เขียนและ นายกมล ทิพโชติ นักวิทยาศาสตร์เกษตร สังกัดภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยามเย็นวันหนึ่งหลังเลิกงานบริเวณโรงเรือนปลูกเมลอนภายในศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “ไร่แม่เหียะ”

เราทั้งคู่พูดคุยกันในประเด็นตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนกระทั่งถึงปลายน้ำ (การตลาดและการจัดจำหน่าย) โดยท้ายที่สุดทำให้เราพอได้ข้อสรุปที่ทำให้รู้ว่า “เพราะเหตุใด ผลผลิตที่มีคุณภาพจึงมีราคาแพง” หนึ่งในปัจจัยสำคัญนั้นมาจาก “ต้นทุนในการผลิต”

จากการพูดคุยเรื่องการลดต้นทุนในการผลิตที่อาศัยประสบการณ์ องค์ความรู้ การลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการพัฒนาตนเองแบบไม่หยุดยั้ง จึงได้พบแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตที่สามารถทำได้มี 4 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่
1. การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เดิม เพื่อรักษาพันธุ์พืชท้องถิ่นที่แข็งแรง ทนทาน สามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี นำไปต่อยอดในการพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

2. การต่อยอดและพัฒนาพันธุ์พืช หลังจากการคัดเลือกสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความเฉพาะแล้ว ลำดับต่อไปคือการนำมาพัฒนาพันธุ์ให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความทนทานต่อโรค รสชาติ เนื้อสัมผัส ขนาด หรือสีที่ตรงตามความต้องการของตลาด

3. การประยุกต์ใช้วัสดุในครัวเรือนมาใช้ในกระบวนการผลิต คือ การนำวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาดัดแปลง และปรับใช้ในการปลูกพืช นอกจากจะหาง่าย ยังมีต้นทุนที่ต่ำอีกด้วย
4. การวางแผนการตลาดสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
วิธีการทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้เวลาแค่วันสองวัน เดือนสองเดือน แต่ต้องใช้การสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลาหลายต่อหลายปี ในการกลั่นกรองวิธีการเหล่านี้ และนำมาสู่การดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ทำให้ได้พืชสายพันธุ์ใหม่ ยกตัวอย่าง การพัฒนาสายพันธุ์เมลอนใหม่ที่รอการแจ้งจดทะเบียนสายพันธุ์ จำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ CM41, CM 42, CM50, CM56, CM36 และ CM25 รวมทั้งฟักทองญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ PK-1 และสายพันธุ์ฟักทองประดับ PK white Pk orange ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยนายกมล ทิพโชต นักวิทยาศาสตร์เกษตร สังกัดภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พืชสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านการผลิต ความสามารถในการต้านทานโรค รวมทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัส โดยผู้ที่มีโอกาสลิ้มลอง และทดลองชิมแล้ว ต่างมีความชอบในแต่ละสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสร้างโอกาสในการวางแผนการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้
การวิเคราะห์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
การสร้างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะแตกต่างกันออกไปตามความชอบของผู้บริโภคคือ การนำความต้องการของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ร่วมกับระบบการผลิต เทคโนโลยีและเทคนิคในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ กระทั้งเกิดเป็นความชำนาญ เชี่ยวชาญ และการมีทักษะที่สั่งสมเพิ่มมากขึ้น นับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลนำไปสู่ “การลดต้นทุนในการผลิต”

ในระยะยาวการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนำเอาข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบกับการวางแผนระบบการผลิตที่ดี ต้นทุนลดลง และทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ต่ำลงได้
ในทางกลับกันสำหรับผู้ประกอบการหากพัฒนาผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ยังคงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และจัดจำหน่ายในราคาที่สูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ และเมื่อช่องว่างระหว่างต้นทุนกับรายได้มีมากขึ้นก็จะสามารถนำส่วนหนึ่งมา “แบ่งปัน” คืนสู่สังคม หรือประเทศได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ภายในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 – 12 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในส่วนของโซน “นวัตกรรมการผลิตพืชสวน” ที่มีความโดดเด่นทั้งองค์ความรู้ การต่อยอดองค์ความรู้ทางการเกษตร พร้อมด้วยการจัดแต่งภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักที่ผู้เยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้ ได้แก่
1. Heirloom seeds มหัศจรรย์พันธุ์พืชพันธุ์พื้นเมือง การแสดงพันธุ์พืชพื้นเมืองที่เกษตรกรเก็บรักษา และขยายพันธุ์มาเป็นเวลานาน หรือสายพันธุ์ที่เคยโด่งดังเมื่อในอดีต
2. การพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนในอนาคต มีการเปิดตัวเมล่อนสายพันธุ์ใหม่ ฟักทอง แตงโมที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น และจัดแสดงสายพันธุ์ฟักทองที่หาดูได้ยาก เชื่อได้ว่าอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิ ฟักทองจานบิน
3. นวัตกรรมการผลิตพืชสวนจากวัสดุรอบตัว จัดแสดง และให้องค์ความรู้เรื่องแนวคิดในการลดต้นทุนการผลิตจากวัสดุรอบตัว

เมื่อมาเยี่ยมชมในโซนนี้แล้ว ท่านจะไอเดียในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการเกษตรเชิงใหม่ การต่อยอดธุรกิจการเกษตร กระจายความรู้สู่ชุมชนและผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าของนักศึกษา การจัดแสดงการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน แปลงไม้ดอก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
อีกทั้งหากท่านใดสนใจอยากศึกษาเรียนรู้เทคนิคการปลูกเมลอน แตงโมในโรงเรือนแบบเจาะลึก เนื้อหาเข้มข้น จัดหนัก จัดเต็ม สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมวิชาชีพระยะสั้น หลักสูตร “การผลิตเมล่อนแตงโมในระบบโรงเรือน” ได้ที่ https://forms.gle/ZXZE21oLBsQKWu2Y7
ดูรายละเอียดและลงทะเบียนหลักสูตรการอบรมอื่น ๆ ได้ที่ https://www.agri.cmu.ac.th/kasetfairstudent/register/training_list
- ดูสิ่งเกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่ https://northern-agricmu-expo.com/activities/short-term-training/
ต้องการเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการเกษตร ขอทราบตารางฝึกอบรมด้วยค่ะและลงทะเบียนได้ที่ไหนคะ