25-10-2022

การเกษตรหาใช่ความล้าหลังหากแต่คือ “รากเหง้า” ของทุกสรรพสิ่ง

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง
  • เรื่อง/ภาพ: นายฐานิต ศาลติกุลนุการ นักวิทยาศาสตร์เกษตร (ความเชี่ยวชาญ: เศรษฐศาสตร์, Agri-Business Model) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • Editor & Artwork: นางสาวปนัดดา ไชยศักดิ์ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

การเกษตรถือเป็นรากเหง้าของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรืออุตสาหกรรมต่างๆ และเกษตรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหาร”

วิชาความรู้หรือศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษา และนอกสถาบันการศึกษานั้น มีอยู่หลากหลายสาขาวิชา ซึ่งส่วนใหญ่เยาวชนและผู้คนทั่วไปเลือกที่จะเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ เพื่อนำความรู้นั้น ๆ ไปใช้ในการประกอบสัมมาอาชีพ

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

หากพิจารณาถึงความสำคัญในแง่ของ “การดำรงชีวิต” ในฐานะ “มนุษย์” นั้น ผู้เขียนมองว่าทุกคนต่าง “มีเวลาในชีวิตอยู่อย่างจำกัด” ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเลือก และเรียงลำดับสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตก่อน ซึ่งในการดำรงชีวิตที่มีหลายมิติให้ได้เรียนรู้

เช่นนั้นแล้วหากพิจารณาในบริบทของการเรียนรู้ โดยทำการแบ่งออกเป็นศาสตร์ หรือสาขาวิชา ผู้เขียนมองว่า วิชาความเป็นมนุษย์มี 3 ศาสตร์หลักที่เราควรเรียนรู้ ประกอบไปด้วย เกษตรศาสตร์ พุทธศาสน์หรือศาสนาใด ๆ และเศรษฐศาสตร์ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการเงิน

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

เกษตรศาสตร์กับอาหาร และการดำเนินชีวิต

“เกษตรศาสตร์” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการมีชีวิตและการดำรงชีวิตอยู่ อย่างที่ทราบกันดีว่า ทุกชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่ โดยเฉพาะปัจจัย “ด้านอาหาร” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากปราศจากผลผลิตทางการเกษตร มนุษย์ทุกคนย่อมไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติกิจการ หรืองานใด ๆ ได้

หากพิจารณาให้ลึกลงในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมิติในด้านเศรษฐกิจ การเมือง พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หรือกิจกรรมในทุก ๆ ภาคส่วนที่สามารถขับเคลื่อนไปได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีการเกษตรซ่อนอยู่เบื้องหลังเป็นฐานสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตอาหาร อาหารแปรรูปต่าง ๆ กระทั่งการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ ซึ่งรถยนต์มีส่วนประกอบหลายส่วนที่มีวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ อาทิ ยางพารา พลาสติก ธาตุ แร่ หรือโลหะต่าง ๆ

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การนำยางพาราไปแปรรูปเป็นยางรถยนต์ โดยล้อที่ปราศจากยางรถยนต์ก็มิอาจเคลื่อนที่ได้ แม้กระทั่งน้ำมันเชื้อเพลิงก็ล้วนมาจากธรรมชาติหรือการแปรรูปทางการเกษตรทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันอาหารมิได้ถูกบริโภคเพื่อหล่อเลี้ยงชีพแต่เพียงเท่านั้น แต่จำต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพและรวมถึงส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง
การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงตรงนั้น ความจำเป็นพื้นฐานด้านอาหารที่ต้องมีอย่างพอเพียงก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าประเทศต่าง ๆ ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ประเทศเหล่านั้นยังเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ และทดลอง เพื่อทำการเกษตร อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ได้ให้ความสนใจในการลงทุนปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย เนื่องด้วยความกังวลเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารและวิกฤตของการขาดแคลนอาหาร”

เกษตรกับความมั่นคงทางอาหาร

เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นประเด็นที่มักได้ยินกันบ่อยครั้งผ่านสื่อต่าง ๆ และถูกกล่าวถึงอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศของเราเองหรือในต่างประเทศก็ตาม  รวมทั้งมีการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นหรือหัวข้อนี้มากมาย และหากมองย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ.1798 (พ.ศ.2341) ซึ่งผ่านมาสองร้อยกว่าปีแล้ว ประเด็นในเรื่องของอาหารเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจ และเกิดการยอมรับในทฤษฎีนี้ค่อนข้างมาก

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

ในช่วงเวลานั้น นักเศรษฐศาสตร์นามอุโฆษ โทมัส โรเบิร์ต มัธทาส (Thomas Robert Malthus, February 1766 – December 1834) ได้นำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีประชากร (An Essay on the Principle of Population, 1798) โดยมีสาระสำคัญว่า “อัตราการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันระหว่างจำนวนประชากรกับปริมาณอาหารที่สามารถผลิตได้นั้นจะไม่สมดุลกัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจะมากกว่าปริมาณอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณอาหารที่ผลิตได้บนโลกใบนี้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์” กล่าวง่าย ๆ คือ “วิกฤติความขาดแคลนทางด้านอาหารจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ทฤษฎีที่นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ได้ทำนาย หรือคาดการณ์ไว้จะไม่เป็นจริงอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ทฤษฎีนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความสำคัญของการผลิตในภาคการเกษตร” ซึ่งในอนาคตอันใกล้ทฤษฎีนี้อาจเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้ เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน การสูญเสียระบบนิเวศน์ที่ดี สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ถูกทำลาย ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กระทั่งถึงโรคระบาด และภาวะสงคราม เป็นต้น

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

เมื่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ผู้ที่มีแนวโน้มมีชีวิตรอดจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเกษตร ซึ่งในทุกวันนี้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการต่าง ๆ และในเมื่ออาหารคือ ความจำเป็นอันดับแรก ที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดได้ องค์ความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ อาจมีความจำเป็นน้อยลง หรือไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยหากระบบสายพานการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำหน้าป้อนผลผลิตแก่ทุกคนขัดข้องหรือล่มสลายลง เงินตราอาจไม่มีความหมายอีกต่อไป เนื่องจาดก่อนที่จะเกิดระบบการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน สังคมของเราเคยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนแบบของต่อของ (Barter System) คือ การนำสิ่งของมาแลกกัน โดยเฉพาะอาหารเพื่อดำรงชีพเท่านั้น

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

ในท้ายที่สุดไม่ว่าวิกฤตการณ์อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม อย่างน้อยที่สุดผู้ที่มีความรู้ด้านการเกษตรจะยังคงมีหลักประกันที่สำคัญในการดำรงชีวิตและไม่อดตายอย่างแน่นอน ภาพที่เราต่างเห็นและถูกปลูกฝังมาตลอดว่า การเกษตรในประเทศของเรา เป็นภาพของความลำบากและยากจน ซึ่งอาจมีส่วนที่จริงอยู่บ้าง แต่เกษตรกรหรือผู้ที่ศึกษาด้านการเกษตรที่สามารถดำรงชีวิต และสร้างธุรกิจของตนเอง รวมทั้งนำความรู้ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ กระทั่งประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรนั้นก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นเราควรจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากผู้สำเร็จว่ามีองค์ประกอบหรือปัจจัยใดบ้างที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ความรู้ของตัวเราเองด้วย

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

จากทั้งมวลนี้คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนักว่า “การเกษตรคือรากเหง้าของทุกสรรพสิ่ง เป็นพื้นฐานของทุก ๆ อย่าง” ทั้งนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาศึกษารากเหง้าอันแท้จริงของเกษตรศาสตร์ รวมทั้งร่วมท่องเที่ยว เรียนรู้ ต่อยอดไอเดียทางด้านการเกษตรกับหลากหลายกิจกรรมไปด้วยกันใน “งานเกษตรภาคเหนือครั้งที่ 10” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 – 12 ธันวาคม 2565 นี้  เวลา 09.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 https://www.facebook.com/northernagricmuexpo และเว็บไซต์ https://northern-agricmu-expo.com/

การเกษตรหาใช่ความล้าหลัง

1 comment on “การเกษตรหาใช่ความล้าหลังหากแต่คือ “รากเหง้า” ของทุกสรรพสิ่ง

  1. เกษตรมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published.